มนุษย์ออฟฟิศ หรือ คนวัยทำงาน ถือเป็นวัยที่อยู่ในช่วงที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กับวัยอื่นๆ ด้วยการเป็นวัยเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นมาสู่วัยผู้ใหญ่ และ การเข้าสู่วัยที่ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว หากสุขภาพแย่ลง ก็อาจกระทบต่อหลายๆ อย่างในชีวิต ไม่ว่าจะการงาน การเงิน หรือ ครอบครัวใช่ไหมคะ
อ่านมาตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งเครียดตามไปนะคะ
บทความนี้ อยากให้ทุกท่าน ลองมาดูกันค่ะว่า มีโรคอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นในวัยนี้ และ โรคอะไรที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานได้บ้าง แล้วเราจะรับมือกับมันได้อย่างไร?
1 โรคที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันฯ ไขมันฯ มะเร็ง
" นี่ฉันเข้าสู่วัยเลข 3 / เลข 4 แล้วหรอเนี่ย เหมือนเพิ่งเรียนจบเลย " เป็นประโยคที่เราได้ยินหรือได้พูดกันอยู่บ่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้เราเป็นวัย "ผู้ใหญ่" แล้วนะ
จริงๆแล้วเกือบทุกโรค จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเรามากขึ้น โดยความเสี่ยงของโรคส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่อายุ 35 ปีเป็นต้นไป (เช่น โรคเบาหวาน ) นอกจากนั้นยังมี
-โรคมะเร็งเต้านม /มะเร็งปากมดลูก : สำหรับผู้หญิงที่อายุ 40ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโดยการตรวจเอ็กซเรย์เต้านม ปัจจุบุนแพคเพจตรวจสุขภาพส่วนใหญ่ก็จะครอบคลุมนะคะ
-โรคมะเร็งลำไส้ : อีกหนึ่งโรคที่พบความชุกมากขึ้นๆ ตามทางการแพทย์แนะนำให้ตรวจในทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า50 โดยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง
2 โรคที่เกิดจากพฤติกรรม ทำงานหนัก หักโหม ไม่ออกกำลังกาย หรือทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น โรคอ้วน และ โรคที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นเคย อย่างเบาหวาน ความดัน
Assets ID: 3hHkddTZH6x39JUAEP714M
เนื่องจากพฤติกรรมการทานอาหารที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน อาหารหวาน มัน เค็ม มีให้รับประทานได้ทั่วไป การเดิน เคลื่อนไหวร่างกายก็ลดลงเพราะ ไม่ต้องออกไปซื้อที่ไหนไกล ส่งผลให้เกิดความดันฯ และไขมันในเลือดสูง ที่พัฒนาไปเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ /หลอดเลือดสมองได้ ! เพราะฉะนั้นตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ ทุก 6 เดือน หรือ ประจำทุก 1 ปี เพื่อป้องกันดีกว่านะ
และที่สำคัญ การปรับพฤติกรรม 3 อ 1 น " อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย นอนหลับ" เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
3 โรคที่อาจเกิดจากการปาร์ตี หนักหลังโหมงานหนัก
Work hard, play hard อาจจะเป็น motto ของมนุษย์เงินเดือนหลายๆคน ทำงานหนักมาทั้งสัปดาห์ วันศุกร์ขอเจอเพื่อนสังสรรค์ พร้อมดื่มและสั่งกับแกล้มซักหน่อย
จริงๆแล้วการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณไม่เกิน 1-2 drink ก็ไม่ได้แย่เกินไป แต่หากดื่มมากกว่านั้น หรือดื่มเป็นประจำก็จะทำให้ตับของเราต้องทำงานหนัก จึงทำให้เกิดโรคตับ ไขมันพอกตับ และมะเร็งตับได้นะคะ ทางที่ดี work hard ไม่ drink hard ดีกว่านะคะ ^^
4 โรคฮิตประจำชาวออฟฟิศ “ Office syndrome ”
เกิดจากการนั่งทำงานท่าเดิมๆเป็นเวลานาน ลักษณะการนั่งที่ไม่เหมาะสม การไม่ได้ลุกและยืดเหยียด และไม่ได้ออกกำลังกาย
ทางแก้... ก็แค่ทำตรงข้ามกับที่กล่าวมาเลยค่ะ ไม่ว่าจะ ลุกขยับ เคลื่อนไหวให้บ่อยขึ้น (ทุกๆ 45นาที พักยืดเหยียด ดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ 15 นาที) ตอนเย็นหาเวลาออกกำลังกาย แบบ exercise from home ก็ได้ !
แต่หากเป็นแบบเรื้อรัง แนะนำให้ปรึกษาหมอ และนักกายภาพบำบัดนะคะ
5 ทำงานแล้วไม่ focus รู้สึกง่วง เพลีย ไม่ productive หรือเปล่า? อาจเกิดจากภาวะโลหิตจาง หรือ ซีดได้นะ
ภาวะโลหิตจาง อาจเป็นภาวะที่ดูไม่ร้ายแรง แต่หากปล่อยให้เป็นโลหิตจางหรือ ซีด เป็นเวลานาน ส่งผลต่อทั้งสุขภาพ และประสิทธิภาพการทำงานได้ (เช่น ง่วงซึม ไม่มีสมาธิ เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะต่างๆได้ไม่เต็มที่)
หรือแม้กระทั่งในวัยหนุ่มสาววัยทำงานที่กำลังจะสร้างครอบครัว ก็ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ มีบุตรยากขึ้นได้ แต่หากไปเจาะเลือดแล้วพบว่ามีภาวะซีด ก็ไม่มีอะไรน่ากังวลค่ะ คุณหมอจะสั่งยาให้ตามชนิดของโรคโลหิตจาง (เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลท) แต่ที่สำคัญ ต้องรู้ว่าเป็นโลหิตจางแบบไหน เพราะมีหลายชนิดและการรักษาต่างกันนะคะ
รวมทั้งโรค ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง (Hypothyroid) และ ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น (hyperthyroid) ที่อาจพบเจอไม่ได้มาก แต่ใครเป็นแล้ว ก็อาจส่งต่อการใช้ชีวิตได้เช่นกัน
ภาวะ hypothyroid จะทำให้การเผาผลาญของร่างกายลดลง น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้น ในแง่ของการใช้ชีวิต จะรู้สึกง่วงซึมมากขึ้น และอาจส่งผลต่อการ focus ของงานได้
หากมีภาวะ hyperthyroid ระบบเผาผลาญของร่างกายจะเผาผลาญมากขึ้นกว่าปกติ น้ำหนักอาจลดลง และเหนื่อยง่ายมากขึ้น ทำให้อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานได้เช่นกัน
สรุปแล้ว โรคต่างๆที่กล่าวมานี้ บางโรคอาจเป็นโรคเล็กๆ แต่อาจส่งผลกระทบต่อ ชีวิตประจำวัน หรือการทำงานได้ อย่างเช่น ภาวะโลหิตจางหรือไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือบางโรค เช่น เบาหวาน ความดันฯ ไขมันฯ ก็เป็นโรคที่มีความเสี่ยงได้มากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมและอายุที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือ โรคเหล่านี้ สามารถตรวจคัดกรอง และป้องกันหรือรักษาได้ จากการตรวจสุขภาพประจำปีได้ !
จึงควรตรวจสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจผ่านสวัสดิการของที่ทำงาน หรือ ไปรพ.เอง เพื่อป้องกันและรักษาโรคได้ตรงจุด และที่สำคัญ ปรับพฤติกรรมทีละเล็กละน้อย อย่าให้ไปถึงจุดที่ "เป็น"โรค จะดีที่สุดนะคะ
เพราะการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ และสุขภาพดี นี่แหละ มีชัยไปกว่าครึ่ง ! ดูแลคนอื่นมาเยอะ อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะคะ :))
#ตรวจสุขภาพประจำปี #สวัสดิการด้านสุขภาพ #สวัสดิการพนักงาน #มนุษย์เงินเดือน #ออฟฟิศ #โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง